บอร์ด ร.ฟ.ท. อนุมัติไฮสปีดเทรน กรุงเทพฯ-ระยอง วงเงินประมาณ 1.52 แสนล้านบาท โดยจะมีการนำเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อนส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อตั้งคณะกรรมการพีพีพี ขึ้นมาดำเนินงานตามขั้นตอนก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และคาดว่าจะสามารถเปิดประกวดราคาเพื่อหาเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินโครงการได้ในปีนี้ จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2560 โดยบอร์ดมีมติอนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) กรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-ระยอง วงเงินรวมประมาณ 2.466 แสนล้านบาท กรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงินประมาณ 9.46 หมื่นล้านบาท และกรุงเทพฯ-ระยอง วงเงินประมาณ 1.52 แสนล้านบาท สำหรับงบประมาณในการลงทุนของเส้นทาง กรุงเทพฯ-หัวหิน ถูกกว่าเส้นทาง กรุงเทพฯ-ระยอง เพราะเป็นเส้นทางเลียบและเป็นพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ ไม่ต้องผ่านแนวทิวเขาแต่อย่างใด ทำให้การก่อสร้างง่ายกว่า เส้นทาง กรุงเทพฯ-ระยอง ซึ่งจากการศึกษาสำรวจออกแบบและการก่อสร้างอาจจะลำบากเนื่องจากต้องผ่านแนวเขาและที่ลุ่มแม่น้ำ จึงต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างมากกว่า โดยก่อนหน้านี้ นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เคยกล่าวไว้ว่า สำหรับไฮสปีดเทรนเส้นทางกทม.-ระยอง,กทม.-หัวหิน และกทม.นครราชสีมา แม้จะเป็นโครงการที่มีระยะทางสั้นๆ ประมาณ 300 กิโลเมตร แต่หากสามารถเปิดให้บริการรูปแบบเชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เชื่อว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเชื่อมโยงพื้นที่ กทม.กับจังหวัดสำคัญที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโดยรอบ กทม.ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น
เนื้อหาข่าวจาก : matichon online : MTHAI
นายสราวุธ เบญจกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมบอร์ดมีมติอนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) กรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงินประมาณ 9.46 หมื่นล้านบาท และกรุงเทพฯ-ระยอง วงเงินประมาณ 1.52 แสนล้านบาท โดยหลังจากนี้จะต้องนำเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อนส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อตั้งคณะกรรมการพีพีพีขึ้นมาดำเนินงานตามขั้นตอนก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ คาดว่าจะสามารถเปิดประกวดราคาเพื่อหาเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินโครงการได้ในปีนี้ จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2560
นายสราวุธกล่าวว่า สำหรับแผนการพัฒนาพื้นที่ของ ร.ฟ.ท.นั้น ทางบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้เสนอแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) เพื่อเพิ่มทางเลือกการพัฒนาระบบรางและเมืองให้เติบโตอย่างสอดคล้องกัน โดยพบว่าแผนพัฒนาที่ ปตท.เสนอมานั้น มีแนวทางพัฒนาทิศทางเดียวกับแผนที่ ร.ฟ.ท.และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาอยู่ในส่วนของพื้นที่ย่านพหลโยธิน มีแนวคิดการพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางการเดินทางในรูปแบบแกรนด์สเตชั่นของประเทศ พร้อมทั้งมีอาคารสำนักงานเชื่อมต่อกัน และจะทำการเปิดให้เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์
“แผนที่ ปตท.ศึกษามา คือ การวางแนวทางพัฒนาพื้นที่เมือง และริมทางรถไฟให้เกิดขึ้นเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์เปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะต้องการรองรับการคมนาคมที่สะดวกสบายของรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงที่ ร.ฟ.ท.กำลังพัฒนา แต่ในตัวแผนไม่ได้มีเพียงแนวคิดพัฒนาย่านพหลโยธินเท่านั้น เพราะยังครอบคลุมไปยังหัวเมืองต่างๆ อีกประมาณ 10 เมือง เช่น ขอนแก่น หนองคาย เชียงใหม่ ภูเก็ต แหลมฉบัง และเชียงรากน้อย เป็นต้น โดยหลังจากนี้ ร.ฟ.ท.ก็จะรายงานแผนดังกล่าวให้กระทรวงคมนาคมทราบ หากเห็นชอบก็จะส่งให้ สนข.เป็นผู้จัดทำต่อไป” นายสราวุธกล่าว
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ดพีพีพี) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ที่ประชุมอนุมัติโครงการร่วมลงทุนตามมาตรการพีพีพี ฟาสท์ แทรก รถไฟฟ้าสายสีน้ำ ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ สัญญาเดินรถมูลค่า 8.4 หมื่นล้านบาท ตามข้อเสนอของการไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งรวมเอาช่วงเตาปูน-บางซื่อ จำนวน 1 สถานีมาไว้ด้วย
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า หลังจากนี้จะตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมดำเนินการในกิจการของรัฐ ตามมาตรา 35 ซึ่งจะใช้วิธีการเจรจากับรายเดิมหรือเจรจารายใหม่ก็อยู่ที่คณะกรรมการชุดนี้ คาดว่าจะเปิดเดินรถได้ในปี 2563 ส่วน 1 สถานีนั้นจะดำเนินการก่อนให้เสร็จก่อน