หน้าแรก หาเรื่อง เทียบท่าหารักษ์ แกะร่องรอยอดีตกับ “นวลทิพย์” ท่าเรือไม้สุดคลาสสิค

เทียบท่าหารักษ์ แกะร่องรอยอดีตกับ “นวลทิพย์” ท่าเรือไม้สุดคลาสสิค

0
เทียบท่าหารักษ์ แกะร่องรอยอดีตกับ “นวลทิพย์” ท่าเรือไม้สุดคลาสสิค

ต้องบอกว่าเข้าขั้นคลาสสิคไปแล้วสำหรับท่าเรือ  “นวลทิพย์” ท่าเทียบเรือท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของจังหวัดระยอง  ที่เจ้าของยังคงอนุรักษ์สะพานไม้ไว้ในรูปแบบเดิมๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางลงเรือข้ามฟากไปยังเกาะเสม็ด  วันนี้ ศฟร. ศูนย์ฟื้นฟูและกระตุกต่อมความทรงจำระยองฮิพ ขออาสาเล่าเรื่องของท่าเรือยอดนิยมแห่งนี้  ไปดูกันว่าทำไมเขาถึงรักและอยากรักษ์ท่าเรือแห่งนี้ไว้

Nuan-Tip-Pier01

ย้อนกลับไปเมื่อสมัยแรกเริ่ม ท่าเรือแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นโดยชาวประมงกลุ่มเล็กๆ ที่ต้องการสร้างท่าเรือไว้เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนย้ายของและขนส่งอาหารทะเล สะพานจึงเริ่มต้นสร้างด้วยไม้กระดานเพียงไม่กี่แผ่น เรียงต่อกันเพื่อใช้เดินทางขึ้นเรือ ลงเรือ ต่อมาได้ขออนุญาตกรมเจ้าท่าเพื่อพัฒนาและทำการเสริมเติมต่อจนกลายเป็นสะพานปลาเพื่อให้ชาวประมงได้สัญจรเรือมาเทียบท่าในการขนส่งอาหารทะเล อย่าง กุ้ง หอย ปู ปลา และสินค้าอื่นๆ ตลอดจนให้บริการนักท่องเที่ยวแบบเหมาจ่าย เพื่อเดินทางข้ามไปยังเกาะได้สะดวกมากขึ้น แต่เมื่อราวปี พ.ศ.2517 ชาวประมงได้ประสบกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน ในการขนย้าย (เพราะอยู่ในช่วงที่แรงงานไปทำงานต่างประเทศกันเยอะ) ทำให้เรือไม่สามารถออกเดินทางได้ ข้าวของที่เก็บไว้ก็เสียหาย ชาวประมงจึงได้ล้อมวงปรึกษาหารือถึงทางออก จนสรุปใจความได้ว่าควรหันหัวเรือจากการทำประมงแบบเดิมๆ เปลี่ยนเส้นทางการเดินเรือ เพื่อมุ่งหน้าสู่ทิศทางการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ “ท่าเรือนวลทิพย์” จึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการจนถึงปัจจุบัน

Nuan-Tip-Pier02

จากแผ่นไม้ชิ้นหนาประกบกันทีละชิ้น เรียงร้อยต่อเสริม เติมกันและกัน จนเกิดเป็นสะพานขนาดใหญ่ที่ทอดยาวจากแผ่นดินสู่ท้องทะเลให้ผู้คนมากมายได้เดินทอดน่องล่องเรือเพื่อไปชมความงดงามของเกาะเสม็ด แรกเริ่มเดิมทีนั้นท่าเรือนวลทิพย์เปิดตัวด้วยความยาวของสะพานประมาณ 80 เมตร เริ่มด้วยการรวมกลุ่มของชาวประมงที่ขาดแคลนคนงาน โดยมีเรือจำนวน 3 – 5 ลำเท่านั้น จากนั้นก็มีเรือทยอยสู่ท่ามาเรื่อยๆ จนมากที่สุดมีจำนวนถึง 50 ลำ เวลาผ่านไป 20 ปีเกาะเสม็ดเริ่มคึกคักและเป็นที่รู้จักกับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เรือเยอะแต่ขนาดท่าเรือยังเท่าเดิม บวกกับเรือแต่ละลำต่างมีลูกค้าเป็นของตัวเอง ความคิดขยายท่าเรือจึงเกิดขึ้น โดยเจ้าของเรือแต่ละลำต่างแยกย้ายกันไปทำมาหากิน กระจายเปิดท่าเรือแห่งใหม่ในพื้นที่ใกล้เคียงจนทำให้มีท่าเรือข้ามเกาะเพิ่มขึ้น จะว่าไปแล้วท่าเรือนวลทิพย์คือจุดกำเนิดของท่าเรือท่องเที่ยวและเป็นท่าเรือแห่งแรกในตำบลบ้านเพ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ถึงแม้ว่าสะพานอาจมีความไม่สมบูรณ์แบบมากนัก เช่น ความไม่เสมอของแผ่นไม้ ริ้วรอยจากการซะล้างของสายน้ำและสายฝน ตลอดจนถูกขัดสีฉวีวรรณจากดวงอาทิตย์ แต่ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ของร่องรอยแห่งความคลาสสิคที่หาดูได้ยากเต็มที เมื่อความเจริญทางวัตถุเข้ามาก็ไม่ได้ทำให้ท่าเรือนวลทิพย์หวั่นไหวแต่อย่างใด (ทั้งๆ ที่หลายท่าเรือได้เปลี่ยนเป็นท่าเรือปูนกันหมดแล้ว) ผู้ดูแลยังคงไว้ซึ่งท่าเรือไม้และสะพานไม้ไว้อย่างดี อาจมีบางชิ้นที่เสื่อมไปบ้างตามกาลเวลาแต่ก็ถูกซ่อมแซมและยังคงไว้ซึ่งรูปแบบดั้งเดิม ผู้ดูแลเล่าว่า “นักท่องเที่ยวหลายคนบอกว่าชอบสะพานนี้มาก อย่าเปลี่ยนนะ อยากให้อนุรักษ์ไว้” หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ท่าเรือนวลทิพย์ยังคงรักษาสภาพเดิมๆ ของท่าเรือไม้ไว้มาตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปี นอกจากท่าเรือนวลทิพย์คือท่าเรือท่องเที่ยวแห่งแรกแล้วท่าเรือนวลทิพย์ยังเป็นท่าเทียบเรือไม้ที่หลงเหลือเพียงแห่งเดียวในจังหวัดระยองอีกด้วย

Nuan-Tip-Pier03 Nuan-Tip-Pier04 Nuan-Tip-Pier05 Nuan-Tip-Pier06 Nuan-Tip-Pier07

เกร็ดนวลทิพย์

นวลจันทร์ | คือหนึ่งในรายชื่อที่จะถูกนำมาตั้งเป็นชื่อท่าเรือ นอกจากนี้ยังมีนวลผ่อง นวลศรี อีกด้วย และแน่นอน นวลทิพย์ ไม่ได้เป็นอะไรกับนวลฉวี

นวลทิพย์ | เป็นชื่อที่ไม่มีความหมาย แต่เกิดจากคำว่านวล มาบวกกับชื่อทิพวรรณ  ชื่อของลูกสาวผู้ก่อตั้งคุณกิมห่อ  ลี้เซ่งเฮง จึงกลายเป็นชื่อ “นวลทิพย์” ในปัจจุบัน

80 เมตร | คือจำนวนความยาวของสะพานไม้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง

50 เมตร | คือจำนวนความยาวของสะพานไม้ในปัจจุบัน (พ.ศ.2558) เนื่องจากรื้อถอนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเรือที่สัญจรผ่าน

600 บาท | คือจำนวนราคาเริ่มต้นในการล่องเรือข้ามเกาะในยุคแรกเริ่ม โดยมีราคาสุดสุดถึง 800 บาท รวมทั้งไปและกลับ แต่ปัจจุบันค่าเรือโดยสารทั้งไปและกลับยังท่าเรือ  เริ่มต้นที่คนละ 100 บาท  ส่วน Speed Boat  (8 คนขึ้นไป) เริ่มต้นที่  350  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะทางและจุดที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางไป

20 ปี | โดยประมาณก่อนหน้านี้  มีท่าเรือแห่งใหม่ถือกำเนิดขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียงกัน

Nuan-Tip-Pier08 Nuan-Tip-Pier09

ท่าเรือนวลทิพย์ ตำบลบ้านเพ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง

รอโหลดข้อความล่างสักครู่ แล้วพิมพ์ความรู้สึกของคุณได้เลย! ▼

comments