จังหวัดระยอง

0
จังหวัดระยอง

จังหวัดระยอง

เมืองชายทะเลฝั่งตะวันออก ที่ได้รับการขนานนาม ให้เป็นเมืองแห่งกวีศรีรัตนโกสินทร์ “สุนทรภู่” ที่มีความงดงามทั้งท้องทะเลและหมู่เกาะน้อยใหญ่ โดยเฉพาะ “เกาะเสม็ด” แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม จังหวัดระยอง ยังแหล่งผลิตอาหารทะเลที่สำคัญ เป็นแหล่งปลูกผลไม้เมืองร้อนที่มีคุณภาพ เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด และยังเป็นที่ตั้งของโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจแห่งใหม่ของประเทศ ทางหลวงสายสำคัญจากทุกภูมิภาคที่มุ่งหน้าสู่เมืองระยองถูกจัดสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคอุตสาหกรรม แต่ขณะเดียวก็เอื้อประโยชน์ให้การเดินทางมาท่องเที่ยวที่จังหวัดระยองรวดเร็วและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โรงแรม ร้านอาหาร ที่ได้มาตราฐาน

ProvinceRayong2
จังหวัดระยอง : จังหวัดระยองมีพื้นที่ประมาณ 3,552 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 2,220,000 ไร่ ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกของประเทศไทยระหว่าง เส้นรุ้งที่ 12-13 องศาเหนือและเส้นแวงที่ 101 – 102 องศาตะวันออก ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 179 กิโลเมตร

ProvinceRayong3
ระยองเป็นแหล่งอาหารทะเลและผลไม้นานาชนิด เป็นเมืองอุตสาหกรรม เมืองท่องเที่ยวชายทะเลที่สำคัญ แบ่งออกเป็น 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองระยอง อำเภอแกลง อำเภอบ้านค่าย อำเภอปลวกแดง อำเภอ บ้านฉาง อำเภอวังจันทร์ อำเภอเขาชะเมา และอำเภอนิคมพัฒนา ประกอบด้วย 54 ตำบล 439 หมู่บ้าน 80 ชุมชน การปกครองส่วนท้องถิ่นประกอบด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง เทศบาลนคร 1 แห่ง เทศบาล เมือง 2 แห่ง เทศบาลตำบล 24 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 40 แห่ง ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม

[hr]

ประวัติเมืองระยอง
ตามหลักฐานและประวัติศาสตร์ ระยอง เริ่มมีชื่อปรากฏในพงศาวดารเมื่อปี พ.ศ. 2113 ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยาส่วนประวัติดั้งเดิมก่อนหน้านี้ เป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่พอจะเชื่อถือได้ว่าระยอง น่าจะเป็นเมืองที่ก่อสร้างขึ้นสมัยขอม คือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 1500 ซึ่งสมัยที่ขอมมีอำนาจครอบคลุมอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิมีเมืองนครธมเป็นราชธานี ขอมได้สร้างเมืองนครพนมเป็นเมืองหน้าด่านแรก มีเมืองพิมายเป็นเมืองอุปราชและได้สถาปนาเมืองลพบุรีขึ้นเป็นเมืองสำคัญด้วย ส่วนทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองนครธม เมืองหน้าด่านเมืองแรกที่ขอมสร้างก็คือ เมืองจันทบูรหรือจันทบุรีในปัจจุบันนี้ เมื่อขอมสร้างเมืองจันทบุรีเป็นเมืองหน้าด่านอารยธรรมของขอมจึงแพร่เข้ามาสู่แคว้นทวารวดี จึงอนุมานว่าขอมเป็นผู้สร้างเมืองระยองนี้ แต่ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด โดยนักโบราณคดีได้สันนิษฐานจากหลักฐานที่ค้นพบคือ ซากหินสลักศิลปะแบบขอมรูปต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ที่บ้านดอนและบ้านหนองเต่า ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยอง กับมีคูค่ายและซากศิลาแลง ศิลปะแบบขอมที่บ้านคลองย้ายร้า ตำบลบ้านค่าย อำเภอบ้านค่ายนอกจากนี้เมืองระยองยังมีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของชาติไทย กล่าวคือ เมื่อปี พ.ศ. 2309 พม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาด้วยกำลังพลมหาศาล ฝ่ายไทยมีกำลังน้อยและขาดความสามัคคี พระยาวชิรปราการหรือพระยาตาก ซึ่งถูกเกณฑ์ไปช่วยป้องกันกรุงศรีอยุธยา ได้นำไพร่พลเข้าต่อสู้ป้องกันรักษากรุงฯ ไว้อย่างสุดความสามารถ จนกระทั่งเห็นว่าไม่อาจรักษากรุงฯ ได้ต่อไปแล้ว จึงได้รวบรวมกำลังพลประมาณ 500 คน ฝ่าตีวงล้อมข้าศึกออกมาสู่ภาคตะวันออกและได้เดินผ่านเมืองต่างๆ โดยมาหยุดพักไพร่พลที่เมืองระยอง ผูกช้างทรงที่ใต้ต้นสะตือวัดลุ่มมหาชัยชุมพล (ปัจจุบันต้นสะตือยังคงปรากฏเป็นหลักฐาน) พระยาตากได้ปราบปรามคณะกรรมการเมืองที่แข็งข้อและได้รวบรวมพลที่เมืองระยอง ข้าราชการและประชาชนผู้จงรักภักดีได้พร้อมใจกันยกย่องสถาปนาพระยาตากขึ้นเป็น “เจ้าตากสิน” เมื่อพ.ศ. 2310 ณ วัดลุ่มมหาชัยชุมพล เมืองระยองนี้เอง ต่อมาได้เดินทัพไปตีเมืองจันทบุรี ยึดเป็นที่มั่นและกอบกู้อิสรภาพจากพม่าได้ในที่สุด

ที่มาของคำว่าระยอง
คำว่า “ระยอง” ไม่มีปรากฏคำอธิบายอยู่ในพจนานุกรม เช่นเดียวกันกับชื่อบ้านนามเมืองในท้องที่ต่างๆ ในแถบนี้ อันได้แก่คำว่า แกลง ชะเมา เพ เล ฯลฯ ล้วนไม่มีคำแปลอยู่ในภาษาไทย สันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นภาษาของชอง ผู้ยึดครองพื้นที่นี้มาแต่ดั้งเดิมและมีภาษาพูดเป็นของตนเองโดยเฉพาะคำว่า “ระยอง” นี้ที่ถูกออกเสียงว่า “ราย็อง” หรือออกเสียงรา ให้ยาว ส่วน ย็อง นั้นออกเสียงให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ “ราย็อง” ภาษาชองแปลว่า “เขตแดน” หมายถึงเขตแดนหรือดินแดนที่พวกชองได้ตั้งรกรากอยู่ แต่ภาษาพูดดังกล่าวเมื่อกาลเวลาผ่านไปก็ได้เพี้ยนกลายมาเป็น“ระยอง” อีกนัยหนึ่งกล่าวกันว่า “ราย็อง” ในภาษาชองนั้นแปลว่า “เขตแดน” หรือ “ต้นประดู่” เนื่องจากอาณาบริเวณที่ตั้งของตัวเมืองระยองในปัจจุบัน อันเป็นถิ่นฐานของพวกชองมาตั้งแต่ดั้งเดิมนั้น เต็มไปด้วยดงไม้ต้นประดู่ขึ้นเป็นป่าหนาแน่นปรากฏอยู่ทั่วไปจนเป็นลักษณะของท้องที่ ด้วยเหตุนี้ ท้องที่นี้จึงได้เรียกชื่อว่า “ราย็อง” ครั้นต่อมาเมื่อคนไทยได้เข้ายึดพื้นที่อาณาบริเวณเดียวกันก็ตั้งชื่อตำบลย่านนี้ว่า “ท่าประดู่” ที่บ่งบอกถึงความเป็นดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นประดู่อย่างชัดแจ้งรวมความคำว่า “ระยอง” น่าจะมาจากภาษาชองที่แปลว่า ดินแดนหรือต้นประดู่ ป่าประดู่อันเป็นไม้พื้นเมืองที่ทำรายได้ให้แก่ชาวระยองและเมืองระยองเป็นอันมากในสมัยบรรพบุรุษของเรานอกจากนี้ยังมีคำบอกเล่าสืบต่อกันมา ทำนองตำนานของบ้านเมืองนี้ว่าในสมัยโบราณนานมาแล้วนั้นได้มี “ยายยอง” มาตั้งหลักแหล่งทำไร่ไถนาทำมาหากินอยู่ในถิ่นแถบนี้มาก่อน จนชื่อเสียงลือกระฉ่อนเป็นที่รู้จักกันดีโดยทั่วไปจึงเรียกท้องที่บริเวณนี้กันว่า“ไร่ยายยอง” หรือ “นายายยอง” แล้วก็เพี้ยนกลายมาเป็น “ระยอง” ในที่สุด

[hr] Source : สำนักงานจังหวัดระยอง

รอโหลดข้อความล่างสักครู่ แล้วพิมพ์ความรู้สึกของคุณได้เลย! ▼

comments