นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานใน “พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน” พื้นที่นำร่อง จังหวัดระยอง ระยะที่ 1 เพื่อสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการจัดการขยะและคัดแยกขยะที่ดีและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการขยายกิจกรรมโครงการไปยังพื้นที่ของผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาชิกองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันในการลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2570 ณ ห้องสร้อยเพชร โรงแรมโกลเด้นซิตี้ จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561
นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เปิดเผยว่าจังหวัดระยองจะเป็นตัวอย่างในการสร้างรูปแบบการจัดการพลาสติกและขยะภายใต้แนวคิด 3Rs และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งการที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้ผลิต ห้างร้าน ผู้บริโภค ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดในฐานะผู้บริโภคคือการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อช่วยให้ขยะแต่ละชนิดนั้นสามารถนำไปใช้ต่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ลดพื้นที่ฝังกลบและลดปริมาณขยะออกสู่ทะเล และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมที่มีทิศทางชัดเจนดังเช่นวันนี้ในอีกหลายๆ พื้นที่ของประเทศไทย การลงนามความร่วมมือเพื่อจัดการปัญหาขยะและพลาสติกอย่างยั่งยืนในวันนี้ ถือเป็นการเดินหน้าในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างจังหวัดระยองกับภาคเอกชน เพื่อจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม ร่วมกันพัฒนาระบบ จัดการขยะและคัดแยกขยะที่ดี โดยส่งเสริมลดและคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิด ตามหลัก 3Rs ซึ่งเน้นในเรื่องของการลดการใช้พลาสติกชนิดครั้งเดียวทิ้ง (Single use plastic) และการคัดแยกขยะเพื่อใช้ประโยชน์ การผนึกความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาจังหวัดระยอง ให้เป็นเมืองสีเขียวที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความสะอาด สวยงาม น่าท่องเที่ยว และน่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป
นายภราดร จุลชาต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ปัญหาขยะนับเป็นปัญหาสำคัญของเมืองไทยโดยรัฐบาลได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ จากผลสำรวจข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศพบว่ามีปริมาณขยะประมาณ 27 ล้านตันต่อปี จากปริมาณขยะที่เกิดขึ้นดังกล่าวร้อยละ 12 หรือประมาณ 2 ล้านตัน เป็นขยะพลาสติกหลังการบริโภค ซึ่งร้อยละ 75 หรือ 1.5 ล้านตัน เป็นขยะพลาสติกที่ไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าขั้นตอนสำคัญในการแก้ปัญหาขยะในระยะยาวคือ การร่วมมือจากทุกภาคส่วน พร้อมๆ กับการสร้างความรู้ การสร้างวินัย เพื่อนำไปสู่การจัดการขยะอย่างเหมาะสมและยั่งยืน จังหวัดระยองได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาชิกองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ดำเนินการลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม รวม 13 องค์กร เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน พร้อมประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน เพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาขยะ พลาสติกให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา จากข้อตกลงดังกล่าว จังหวัดระยอง โดยสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนกิจกรรมและขยายผลการประกาศเจตนารมณ์ตามโครงการ ความร่วมมือ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน โดยคัดเลือกจังหวัดระยองเป็นพื้นที่นำร่องในการดำเนินการ เนื่องจากมีความพร้อมในการบริหารจัดการ และมีศักยภาพที่จะลดปริมาณขยะได้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากองค์กรภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการ หลังจากที่ภาคีเครือข่ายทุกองค์กรได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์เมื่อวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายนที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้คณะทำงานโครงการฯ เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อเร่งรัดป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกแบบบูรณาการ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งโครงการฯ ได้มีการจัดตั้ง คณะทำงานทั้งหมด 6 คณะโดยมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2570 หรืออีก 9 ปี ข้างหน้า
นายสมชาย รุ่งเรือง ท้องถิ่นจังหวัด กล่าวว่า ในระยะแรกมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประกอบด้วยเทศบาลต้นแบบจำนวน 19 แห่ง และชุมชนต้นแบบจำนวน 48 ชุมชน เข้าร่วมโครงการ ความร่วมมือนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความสาเร็จของโครงการ การมีพันธมิตรที่มีเจตนารมณ์แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นจะก่อให้เกิดเครือข่ายการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาขยะและการใช้พลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มโอกาสในการพัฒนาส่งเสริมธุรกิจของชุมชนในจังหวัดระยอง พร้อมทั้งรักษาคุณภาพชีวิตของประชาชน สภาพแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้น เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นความร่วมมือกันของภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในพื้นที่นำร่องนี้ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการพลาสติกและขยะอย่างถูกวิธี และในการดำเนินงานระยะแรกนี้มี 19 เทศบาล 48 ชุมชนต้นแบบได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องที่มีศักยภาพต่อการเข้าร่วมโครงการฯ ต่อไป
สำหรับขอบเขตการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายแบ่งออกเป็น 5 ด้านได้แก่ การพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติกเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน (Circular Economy) การจัดทำฐานข้อมูลพลาสติกในประเทศไทย สนับสนุนระบบการจัดการขยะและคัดแยกขยะที่ดี พัฒนาแผนธุรกิจ (Business Model) เพื่อจัดการขยะและพลาสติกที่ใช้แล้วอย่างครบวงจร การให้ความรู้ประชาชนโดยมุ่งหวังการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะและการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน โดยมีแผนการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 พ.ศ. 2561-2564 ระยะที่ 2 พ.ศ. 2564-2567 ระยะที่ 3 พ.ศ. 2567-2570 ซึ่งหากประชาชนตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของพลาสติกและใช้อย่างถูกต้อง รวมถึงดำเนินการคัดแยก และทิ้งอย่างถูกวิธี ก็จะทำให้โลกใบนี้น่าอยู่มากขึ้น มีปริมาณขยะลดน้อยลง มีการหมุนเวียนใช้พลาสติกอย่างไม่รู้จบต่อไป