หน้าแรก Interesting articles เสพข่าวอย่างไรไม่ให้ดราม่า

เสพข่าวอย่างไรไม่ให้ดราม่า

0
เสพข่าวอย่างไรไม่ให้ดราม่า

ในยุคปัจจุบันที่โลก Social Media เข้ามามีอิทธิพลต่อโลกข้อมูลข่าวสารและการใช้ชีวิตประจำวัน การแพร่กระจายและส่งต่อของข้อมูลต่างๆก็เป็นไปอย่างรวดเร็วผ่านการแชร์ จนบางครั้งเราไม่อาจรู้เลยเรื่องใดจริง เรื่องใดเท็จ เพราะ Content ต่างๆบนโลก Internet บางครั้งก็มีการเสริมแต่งจนเกินจริง บางเรื่องอาจไม่มีมูลความจริงเลยด้วยซ้ำ อาจเป็นเนื้อหาที่มีการเขียนขึ้นเพื่อแสวงหาผลประโยชน์อะไรบางอย่าง เช่น เพื่อโปรโมทสินค้า โปรโมทเพจของสำนักข่าวของตน หรือเพจส่วนตัวของตนเอง เป็นต้น ข่าวสารในโลกยุคนี้ก็มีทั้งข่าวลวง ข่าวที่ไม่มีสาระ ข่าวเสี้ยมที่สร้างความเข้าใจผิดระหว่างบุคคลหรือกลุ่มคน รวมทั้งข่าวร้ายๆ ที่ล้วนนำไปสู่การเกิดกระแสดราม่าทั้งในโลก Internet และในสังคมจริง แล้วเราในฐานะผู้เสพข่าว จะเสพข่าวอย่างไรไม่ให้ดราม่า?

  1. ใช้วิจารณญาณและสติในการเสพข่าว

หลังจากเสพข่าวจากแหล่งใดก็ตาม หากเป็นข่าวในด้านลบ หรือแม้แต่ข่าวที่ฟังดูน่าเหลือเชื่อจนเกินจริง ตั้งสติก่อนลำดับแรก แล้วลองเช็คที่มาของ Content ข่าวนั้นๆ ว่ามาจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือหรือมีตัวตนหรือไม่ หรือมีการแปะลิงค์ของแหล่งที่มาข่าวหรือไม่ หากไม่มีที่มา หรือที่มาไม่แน่ชัด ให้ลองเช็คจากหลายๆแหล่ง

  • อย่าเชื่อข่าวที่มีภาพถ่ายเสมอไป

ปัจจุบันภาพถ่ายสามารถปลอมแปลงได้ บางครั้งก็มีการนำภาพของผู้อื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต มีการนำรูปเก่ามาเล่าใหม่ รวมทั้งมีการนำภาพคนหน้าคล้ายมาลง เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจผิด แนะนำให้ลองเช็คภาพข่าวต่างๆในบริบทอื่นจาก Google Image หรือแหล่งข้อมูลอื่นๆเสียก่อน เพื่อไม่ให้เกิดดราม่าไปก่อน

  • หลีกเลี่ยงการตอบโต้ หรือวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่างๆในโลก Social

หน้าต่างมีหูประตูมีช่อง สื่อ Social Media ก็มีการแชร์ และการแพร่ของข่าวสารและข่าวลือไปไวยิ่งกว่าไฟลามทุ่ง การวิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงความคิดเห็นในเชิงลบต่อสิ่งต่างๆรอบตัว อาจนำไปสู่ความดราม่าเกินกว่าที่เราคาดคิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อตัวเราเอง คนที่เรากล่าวพาดพิงถึง หรือแม้แต่ผู้อื่นที่เราไม่คาดคิดว่าจะได้รับผลกระทบ สิ่งเหล่านี้อาจไม่ได้กระทบเพียงเรื่องส่วนตัว แต่อาจกระทบไปถึงหน้าที่การงาน รวมถึงพื้นที่ยืนในสังคมเลยก็ว่าได้ พึงระลึกไว้เสนอว่า “คิดก่อนพูดและโพสท์” เพราะเราไม่อาจนำคำพูดกลับคืนมาได้ หากเกิดข้อผิดพลาด และข้อความที่เขียนในสื่อต่างๆ เราอาจลบมันได้ แต่คนอ่านก็อาจไวกว่าในการบันทึกข้อความและแชร์ต่อ เราอาจถูกฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และมีหลายกรณีที่คำพูดเพียงเล็กน้อย อาจทำให้ผู้อื่นคิดสั้นฆ่าตัวตายได้

  • เรื่องส่วนตัวของเขาเราไม่ยุ่ง

เรื่องราวและปัญหาส่วนตัวของผู้อื่น หากไม่ใช่เรื่องที่กระทบต่อชีวิตของเรา ก็ควรเลือกที่จะปล่อยวาง เพราะคนเราทุกคนล้วนมีสิทธิมนุษยชน และสิทธิส่วนบุคลที่ไม่ควรได้รับการละเมิดไม่ว่าทางใด ตราบใดที่ไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น หลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคม อาจไม่ถูกต้องในแง่ศีลธรรมหรือจรรยาบรรณ และไม่ถูกใจเรา เราไม่จำเป็นต้องวิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงออกในเชิงลบหลังเสพข่าวเพื่อเพิ่มดราม่า เพราะอย่างไรเสียบุคคลในข่าวนั้นๆก็จะได้รับการลงโทษทางสังคมในรูปแบบอื่นๆ หรือทางกฎหมาย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

  • เสพข่าวที่มีประโยชน์ให้มากขึ้น

หันมาเสพข่าวในเชิงสร้างสรรค์หรือเป็นประโยชน์ในการพัฒนาตนเองให้มากขึ้น นอกจากข่าวบันเทิง ข่าวสังคม ข่าวอาชญากรรม ยังมีข่าวอื่นๆที่มีประโยชน์และน่ารู้ และไม่มีเรื่องดราม่ามากนัก เช่น ข่าวเกี่ยวกับธุรกิจและเศรษฐกิจ ข่าวเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ข่าวการศึกษา ข่าวต่างประเทศ เป็นต้น

  • กรณีเสพข่าวต่างประเทศ ควรใช้เว็บคัดกรองข่าว

หากใครชอบเสพข่าวต่างประเทศ มีเว็บแนะนำสำหรับใช้คัดกรองข่าวปลอม ที่ติดอันดับ ได้แก่ Snopes.com และ factcheck.org และในปัจจุบัน Google เองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยผลการค้นหาของ Google จะแสดงผล fact-checking label  หากข่าวนั้นได้รับการยืนยันว่าเป็นความจริง

รอโหลดข้อความล่างสักครู่ แล้วพิมพ์ความรู้สึกของคุณได้เลย! ▼

comments