ล่องเรือน้อยลอยวน ในสายชลที่คดเคี้ยว เลี้ยวชมธรรมชาติสองฝั่งคลองที่เต็มไปป่ายชายเลนที่สวยงาม
คลองลาวนแห่งนี้ คือคลองในประวัติศาสตร์ การเดินทางของท่านสุนทรภู่ ที่เดินทางจากแหลมทองหลางถึงปากคลอง “กะลาวน” หรือ “ลาวน” ระยะทางประมาณ 5 – 6 กิโลเมตร ปากลาวน ความหมายคือ ปากคลองของลำน้ำที่ไหลลงทะเล โดยชื่อปากลาวน สันนิษฐานว่าคงมาจากลักษณะคลองบริเวณก่อนออกทะเลนั้นคดเคี้ยวไปมาหลายคุ้งโค้งและวกไปวนมานั่นเอง
ชุมชนคลองลาวน ชุมชนคลองสองฝั่งมีสายน้ำที่คดเคียวเลี้ยวลงทะเล รายล้อมไปด้วยป่าชายเลนหลากหลายชนิด ทั้ง ต้นโกงกาง ต้นแสม และต้นกะบูน อายุนับร้อยปี เมื่อก่อนชาวบ้านที่นี่นอกจากจะออกเรือหาปูหาปลาแล้ว ยังทำอาชีพเลี้ยงหอยนางรมกันอีกด้วย ว่ากันว่าที่นี่คือแหล่งเพาะเชื้อหอยนางรมชั้นดี เนื่องมาจากลักษณะคลองเป็นพื้นที่ 3 น้ำ น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม และมีป่าชายเลนโอบล้อมเสมือนบ่ออนุบาลตัวอ่อนตามธรรมชาติ จึงเหมาะแก่การเพาะเลี้ยงเชื้อหอยนางรมแล้วนำไปเลี้ยงในทะเลเปิดอีกครั้ง ซึ่งแต่เดิมชาวบ้านจะมีการเพาะเลี้ยงหอยนางรมเต็มทั้งสองฝั่ง ต่อมาก็ได้มีการเพิกถอนการเพาะเลี้ยงหอยนางรมว่าเป็นการรุกล้ำป่าชายเลน พี่น้องชาวคลองลาวนจึงหันมาช่วยกันในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนให้มีความอุดมสมบูรณ์ให้ลูกหลานต่อไป
เท่าที่ได้ลองสำรวจคลองลาวนในวันนี้ ทำให้พบว่ายังคงมีธรรมชาติที่สวยงาม ชาวบ้านที่ยังคงมีวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ทั้งการทำประมง ตกปลา ดักปู มีการเลี้ยงหอยนางรม เห็นได้จากการทำพวงอีแปะหรือตุ้มหอยสำหรับเพาะเลี้ยงหอยนางรมที่มีอยู่แทบจะทุกบ้านเรือน ที่แปลกใจไปกว่านั้นคือระหว่างทางเราได้พบกับหมู่บ้านไร้ไฟฟ้าที่ชาวบ้านเรียกกันว่าหมู่บ้านคาเซ ชุมชนที่นี่มีการเกื้อกูลกันโดยชาวบ้านฝั่งคลองจะให้ชาวบ้านในหมู่บ้านคาเซทำอีแปะเพื่อไปเพาะเลี้ยงหอยนางรม ส่วนเส้นทางสายน้ำค่อนข้างยาวและมีความคดเคี้ยวโค้งวน ใช้เวลาในการเดินทางร่องเรือ 30 – 40 นาที
.
💦 ตอนนี้ชุมชนคลองลาวน กำลังช่วยกันอย่างเต็มที่เพื่อให้คลองลาวนเป็นที่รู้จักมากขึ้น ตอนนี้มีเรือบริการประมาณ 4 ลำ หากท่านใดสนใจมาล่องเรือท่องเที่ยวชุมชนคลองลาวน สามารถติดต่อได้ที่กลุ่มวิสหากิจท่องเที่ยวชุมชนคลองลาลวนหรือเทศบาลสุนทรภู่ได้เลยครับ
🔰 : ชุมชนคลองลาวน
📍 : ม.1 ต.ชากพง อ.แกลง จ.ระยอง
⏰ : 09:00 – 17:00 น.
💰 : 500฿+
🚘 : https://goo.gl/maps/vivkcpcoc2Ruzr866
ข้อมูลบางส่วนโดย : สภาวัฒนธรรมจังหวัดระยอง, กลุ่มวิสหากิจท่องเที่ยวชุมชนคลองลาลวน
ขอบคุณพิเศษ : ทต.สุนทรภู่, คุณอู๊ตและชาวบ้านคลองลาวน