เมื่อนึกถึงระยอง หลายคนคงมีภาพจำ ‘ทะเล’ และแหล่งเซิร์ฟทาวน์ (Surf Town) ของทะเลอ่าวไทย แต่ ‘ระยอง’ ยังมีเมืองเก่า ที่มีเสน่ห์ชวนให้ไปสัมผัสอย่างย่าน ‘ยมจินดา’ ย่านการค้าเก่าแก่ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ขอเชิญร่วมกิจกรรม ‘Co-Create YOMJINDA’ มาดูกันว่าเมื่อสินทรัพย์อันมีเอกลักษณ์ของพื้นที่ ผนวกกับแนวคิดการ ‘พัฒนาเมืองสร้างสรรค์’ (Creative City) จากความร่วมใจของทุกคน จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเมืองนี้อย่างไร…
กิจกรรม ‘Co-Create YOMJINDA’ จัดโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับ เทศบาลนครระยอง และ ชาวชุมชนยมจินดาระหว่างวันที่ 9 – 11 กันยายน 2565 ณ ย่านยมจินดา ชวนทุกคนมาร่วมสร้างและต่อยอดสินทรัพย์ท้องถิ่น โดยใช้งานออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ ช่วยให้คนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี พร้อมสร้างเรื่องราว (Storytelling) การเชื่อมต่อเส้นทางท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดให้ผู้อาศัยและผู้มาเยือนกลับมาเที่ยวในเมืองเก่ามากขึ้น พร้อมส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายต่าง ๆ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน คนในชุมชน นักสร้างสรรค์ และผู้ประกอบการ ปลุกปั้นให้ ‘ยมจินดา’ ก้าวสู่การเป็นย่าน ‘น่าอยู่ น่าลงทุน น่าท่องเที่ยว’ อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป
ย่าน “ยมจินดา” ความรุ่มรวยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
‘ยมจินดา’ ชุมชนเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองระยอง เป็นแหล่งการค้าสำคัญในอดีต เพราะเป็นถนนสายแรกที่ตัดขนานไปกับแม่น้ำระยอง มีบ้านขุนนางและคหบดีหลายหลังตั้งอยู่ รวมทั้งยังเป็นแหล่งที่ทำกินของชาวจีนทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทำให้ตลอดสองข้างทางของถนนยมจินดาเรียงรายไปด้วยตึกแถว อาคารไม้ และอาคารก่ออิฐถือปูนมากมาย ความรุ่มรวยทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเหล่านี้ยังคงหลงเหลือให้เห็นอย่างเด่นชัด อย่าง ‘บ้านบุญศิริ’ซึ่งเป็นบ้านหลังแรกในย่าน ไม่ไกลกันนั้นยังเป็นที่ตั้งของ ‘บ้านเจ้าเมืองต้นตระกูลยมจินดา หรือ ครัวครูหมู’ซึ่งปัจจุบันเปิดเป็นร้านอาหารต้นตำรับระยองแท้ ๆ โดยทายาทตระกูลยมจินดาเอง ในขณะที่ ‘ตึกเถ้าแก่เทียน’ สถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีส ซึ่งในอดีตเคยเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรก แต่ปัจจุบันเป็น ‘ศูนย์ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเมืองระยอง (RCDC)’สถานที่แลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์และนำเสนอเรื่องราวของชุมชน ทางด้าน ‘ร้านศรีประดิษฐ์’สมัยก่อนเป็นร้านขายเครื่องมือเย็บปักถักร้อยและที่เรียนพิเศษของเด็ก ๆ ปัจจุบันยังคงทำหน้าที่เป็นพื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์สำหรับเด็ก ๆ อยู่เช่นเดิม ภายใต้ชื่อ ‘Converstation’ ย่านยมจินดานับเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์นำร่องของจังหวัด ที่ CEA ได้เข้ามาสำรวจศักยภาพ ภายใต้โครงการเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย หรือ TCDN โดยค้นพบศักยภาพในการพัฒนาทุกมิติ ทั้งการลงทุน การท่องเที่ยว รวมถึงการต่อยอดสินค้าและบริการ โดยใช้งานศิลปะและงานออกแบบเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยง ‘คน’ กับ ‘เมือง’ ให้กลับเข้ามาหากันได้อย่างกลมกลืน
สำหรับกิจกรรม ‘Co-Create YOMJINDA’จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 11 กันยายน 2565 ณ ย่านยมจินดา ประกอบไปด้วย
1. Siamsi Exhibitionนิทรรศการและกิจกรรมเสี่ยงทายเซียมซีแบบฉบับยมจินดา ร้อยเรียงพื้นที่แห่งศรัทธาให้เชื่อมโยงกับผู้คน โดยผู้เข้าชมจะได้ร่วมเสี่ยงทาย รับใบเซียมซี ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่สำคัญบนถนนยมจินดาเพื่อนำพาไปสู่กิจกรรมอื่น ๆ ในพื้นที่
สถานที่: ศาลางิ้ว ศาลเจ้าแม่ทับทิม
2. Portrait of YOMJINDA Exhibition นิทรรศการภาพโดยชาวยมจินดา บอกเล่าเรื่องราวและสะท้อนมุมมองของย่านยมจินดา จากผู้คนหลากหลายช่วงวัยตั้งแต่รุ่นลูกหลาน คุณลุงคุณป้า ไปจนถึงคุณตาคุณยาย
สถานที่: ร้านหลานเอก และตึกเถ้าแก่เทียน (RCDC)
3. The Future of Thapradu Exhibitionนิทรรศการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมชวนคนในพื้นที่มาร่วมกันออกแบบพื้นที่สาธารณะของท่าประดู่ ว่าพวกเขาอยากเห็นท่าประดู่ในอนาคตเป็นแบบใด
สถานที่: พื้นที่ริมน้ำท่าประดู่
4. YOMJINDA Street Furniture & Street Elements Testingผลงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์สาธารณะและจุดพักคอย ให้คนในพื้นที่ได้ทดลองใช้งานและร่วมโหวตให้ผลงานที่ชื่นชอบเพื่อนำไปผลิตและใช้งานจริง เช่น โต๊ะ-เก้าอี้สาธารณะ ป้ายบอกทาง และฝาท่อ
สถานที่: หน้าตลาดเทศบาล, พื้นที่ริมน้ำท่าประดู่, หน้าศาลเจ้าแม่ทับทิม
5. Art and Crafts Workshopพบกับ 6 กิจกรรมเวิร์กช็อปทั้งงานศิลปะและงานฝีมือในแบบฉบับของยมจินดา
สถานที่: ร้าน STRIP CAFE, Old House At Yomjinda, Sunsan Home cafe, Converstation, บ้านลุงตุ๋ย, Hippie.type
6. Food Art and Crafts Marketตลาดนัดศิลปะและงานทำมือของชาวยมจินดา รวมถึงของอร่อยในย่าน
สถานที่: ระยองแกลลอรี่, ตลาดโรงสี
7. YOMJINDA Calendar Design ร่วมสร้างสรรค์ปฏิทินกิจกรรมเมืองเก่า 12 เดือน โดยกิจกรรมที่จะจัดขึ้นตลอดทั้งปี ล้วนมาจากไอเดียของคนในยมจินดาเพื่อคนยมจินดาเอง
สถานที่: พิพิธภัณฑ์เมืองระยอง
8. YOMJINDA Walking Routesร่วมสนุกกับ Walk Rally เก็บแสตมป์ที่ระลึก พร้อมฟังเรื่องเล่าใหม่จากไกด์เด็กจิ๋วในชุมชน ที่ชวนไปสำรวจการต่อยอดอัตลักษณ์ของพื้นที่ เรื่องราวประวัติศาสตร์ การค้า ผ่านตัวอย่างและผลงานต้นแบบ พร้อมเช็กอินสถาปัตยกรรมโบราณ ร้านค้า และพื้นที่สำคัญ
สถานที่: ย่านยมจินดา
9. YOMJINDA Promotionพบกับโปรโมชันพิเศษจาก 11 ร้านค้า ในย่าน ทั้งเมนูและส่วนลดพิเศษเฉพาะงานนี้ เพียงร่วมเช็กอินและสะสมเหรียญ Burn KGO Token
สถานที่: Converstation, Sunsan Home cafe, STRIP CAFE, Old House At Yomjinda, บ้านสะพานไม้, Dark Matter Cafe, So Choux, ลูกหว้ากาแฟ, Overlab, Slurp Coffee Specialist, หลานเอก คอฟฟี่เฮาส์
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: www.facebook.com/CocreateYomjindaและ
www.facebook.com/Yomjindayและติดตามความเคลื่อนไหวของ CEA กับการขับเคลื่อนย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (Thailand Creative District Network: TCDN)และเมืองสร้างสรรค์ พร้อมกิจกรรมอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่จะสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้ประเทศไทยต่อไป ได้ที่https://www.cea.or.th
*หมายเหตุ: สำหรับผู้สนใจเข้าชมงานและร่วมกิจกรรม สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว โดยปักหมุดจุดหมาย ‘ถนนยมจินดา’ และสามารถจอดรถได้ที่
- ลานจอดรถเนินอุไร ถนนภักดีบริรักษ์ (มีรถไฟฟ้ารับ-ส่ง เฉพาะวันที่ 9 กันยายน (ฟรี))
- ลานจอดรถตรงข้ามร้านก๋วยเตี๋ยวเรือระยอง
เกี่ยวกับย่านยมจินดา
ตลอด 600 กว่าเมตรบนถนนยมจินดา จะพบกับสถาปัตยกรรมสวยงามมากมาย โดยจุดเริ่มต้นที่ ‘ต้นมะขามยักษ์’ ที่อยู่คู่กับย่านมาอย่างยาวนาน สามารถเดินมาไม่ไกลนักก็จะพบกับร้านกาแฟและ ‘ตลาดโรงสี’ ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นพื้นที่รับส่งสินค้าทางเรือระหว่างชาวระยองกับชาวจีน แต่ปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นร้านอาหารพื้นเมืองที่ทั้งถูกปากคนในเมืองเป็นอย่างยิ่ง
ไม่ไกลจากจุดเริ่มต้นนัก สามารถแวะเยี่ยมชมความเก่าแก่ของสถาปัตยกรรมที่ ‘บ้านบุญศิริ’ บ้านหลังแรกในย่าน ห่างไปอีกหน่อยในระแวกเดียวกันจะพบกับ ‘บ้านเจ้าเมืองต้นตระกูลยมจินดา หรือ ครัวครูหมู’ ซึ่งปัจจุบันเปิดเป็นร้านอาหารต้นตำรับระยองแท้ ๆ โดยทายาทตระกูลยมจินดาเอง ภายในบ้านมีของเก่าเก็บกว่าพันชิ้นที่ถูกเก็บรักษาเป็นอย่างดี พร้อมบอกเล่าประวัติศาสตร์ของเมืองได้
‘ตึกกี่พง’ สถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีส หลังใหญ่หลังแรกในระยอง และใกล้ๆ กันนั้น สถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีสอีกหลังที่เรียกคุ้นปากกันในชุมชนว่า ‘ตึกเถ้าแก่เทียน’ ซึ่งในอดีตเคยเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรก แต่ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์และนำเสนอเรื่องราวของชุมชน หรือ ‘ศูนย์ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเมืองระยอง (RCDC)’
จากโซนบ้านตึกเก่า เมื่อเดินห่างมาไม่ไกลจะเข้าสู่โซนบ้านไม้ ‘บ้านสัตย์อุดม’ บ้านไม้สองชั้นของต้นตระกูลเก่าแก่อีกตระกูลหนึ่งของเมืองระยอง ที่ได้มอบบ้านให้เป็นของชุมชนเพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ทั้งรวบรวมและจัดแสดงสิ่งของ ภาพถ่าย และเรื่องราวที่แสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของชาวระยอง
‘ร้านศรีประดิษฐ์’ ซึ่งในสมัยก่อนเป็นร้านขายเครื่องมือเย็บปักถักร้อยและที่เรียนพิเศษของเด็กๆ ปัจจุบันยังคงทำหน้าที่เป็นพื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์สำหรับเด็กๆอยู่เช่นเดิม ภายใต้ชื่อ ‘Converstation’ ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้สร้างสรรค์ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมเวิร์กช็อป บอร์ดเกม เทศกาลหนัง และดนตรี เป็นต้น
หากพูดถึงเรื่องของความศรัทธาในพื้นที่ นอกจาก ‘วัดโขดทิมธาราม’ ที่อยู่ไกลออกไป และ ’ศาลเจ้าโจวซือกง’ ที่อยู่ในพื้นที่ยมจินดาเอง ‘ศาลเจ้าแม่ทับทิม’ ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่แห่งศรัทธาอันสำคัญที่อยู่คู่กับชุมชนมากกว่าร้อยปี นอกจากนี้แล้ว ยังมีสถานที่น่าสนใจอีกหลายแห่งตลอดเส้นถนน ไม่ว่าจะเป็น ‘บ้านสะพานไม้’ ตลาดเทศบาล บ่อน้ำ ซุ้มประตู รวมถึงจุดสำคัญบนถนนเส้นอื่นๆ ภายในย่านด้วย
Activities