ชีวิตทุกชีวิตมีค่า หากเกิดความล่าช้าเพียงเสี้ยววินาที อาจเกิดการสูญเสียได้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์มีความสำคัญที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจวินิจฉัยและกระบวนการรักษาฟื้นฟูผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสแกน เครื่องเอ็กซเรย์ อุปกรณ์ผ่าตัด อุปกรณ์วัดสัญญาณชีพ เครื่องนับเม็ดเลือด และเครื่องมืออื่นๆ อีกมากมาย กลุ่ม ปตท.ระยองตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต จึงทุ่มงบประมาณราว 50ล้าน เพื่อสนับสนุนเครื่องมือแพทย์ที่จะช่วยให้หมอและพยาบาลสามารถปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ให้แก่ โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระยองตั้งแต่แรกเริ่มที่มีการย้ายโรงพยาบาลมาพื้นที่ใหม่เมื่อปี2557 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน แจ๋ว-สำรวม บูรณปรีชายุทธ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ รองผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาล เล่าว่า ‘เครื่องมือที่ได้มา คือตัวช่วยขยายการรักษาให้ครอบคลุม’ “ในตอนนั้น โรงพยาบาลมาบตาพุด ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2542 ยังเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กที่ขาดเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ทำให้ไม่สามารถรองรับการรักษาได้อย่างครอบคลุม จึงรักษาได้แค่โรคพื้นฐานหรืออาการเจ็บป่วยเล็กน้อยเท่านั้น ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยหนักได้ รู้สึกสะเทือนใจไม่น้อยที่ต้องเห็นคนในชุมชนทนทุกข์กับการเจ็บป่วย เพราะไม่สามารถขยับขยายการรักษาในโรงพยาบาลชุมชนไปได้มากกว่านี้
…แต่เพราะปัญหาสุขภาพเป็นเรื่องที่รอช้าไม่ได้ จึงทำให้ต้องสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมหลายเท่า เพื่อเปิดให้บริการอย่างเพียงพอต่อความต้องการของชาวมาบตาพุด ซึ่งในขณะนั้นด้วยความต้องการยกระดับการดูแลสุขภาพของชาวบ้านมาบตาพุด ในปี 2552รัฐบาลได้มีมติอนุมัติให้ปรับระดับโรงพยาบาลฯ จากโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง ไปเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 200 เตียงทันที นับเป็นการปรับระดับแบบก้าวกระโดดที่ไม่เคยมีในประวัติของระบบสาธารณสุขไทยมาก่อน
…ดังนั้นสิ่งที่ตามมาพร้อมกับการปรับขนาดโรงพยาบาลให้ใหญ่ขึ้นหลายเท่าตัว คือเครื่องมือแพทย์จำนวนมากที่ต้องจัดหาเพื่อให้สอดคล้องกับบริการทางการแพทย์ที่จะมากขึ้นตามไปด้วย แต่ด้วยความโชคดีที่ในปี 2557 กลุ่ม ปตท. ได้เข้ามาช่วยเหลือโดยอนุมัติงบประมาณเพื่อจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ในแก่โรงพยาบาลทำให้การรักษาผู้ป่วยในชุมชนนี้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น สามารถจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นเข้าอาคารผู้ป่วยต่างๆ ได้ค่อนข้างครบถ้วน ทั้งหอผู้ป่วยนอก หอผู้ป่วยใน หอผู้ป่วยหนัก ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องแล็บ ธนาคารเลือด ฯลฯ กระจายตามความจำเป็นที่เร่งด่วนที่สุดก่อนเพื่อให้รองรับความต้องการของผู้ป่วยที่จะเข้ามาใช้บริการ …ตัวอย่างอุปกรณ์การแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาลจัดซื้อด้วยงบของกลุ่ม ปตท. เช่น เครื่องผ่าตัดกระดูกและข้อ อุปกรณ์ผ่าตัดไทรอยด์และต่อมทอนซิล อุปกรณ์ผ่าตัดตา รวมถึงเครื่องวัดสัญญาณชีพเพื่อคัดกรองความรุนแรงในแผนกฉุกเฉิน และมีการจัดซื้อเครื่องช่วยชีวิตฉุกเฉินให้กับทุกตึกอีกด้วย …จากการบริการแก่ผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ทำให้โรงโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติฯ ระยอง ได้รับ
รางวัลคะแนนความพึงพอใจของผู้รับบริการเป็นอันที่ 1 ของโรงพยาบาลเขตสุขภาพที่ 6 ซึ่งมีราวๆ 100 โรงพยาบาล และได้ลำดับ 4 ของประเทศอีกด้วย” สำหรับ ศรี-ชูศรี เหลืองสอาดกุล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาลผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน บอกเล่าว่า ครั้งแรกที่ได้งบจากกลุ่ม ปตท. เรานำมาปรับปรุงห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อรับรองผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุมา “พอหลังจากได้ทุนไปศึกษาดูงานในทวีปยุโรป ได้มีโอกาสเห็นเทคโนโลยีการพยาบาลที่ทันสมัย จึงนำมาปรับใช้ที่โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติฯ ระยอง ทำให้โรงพยาบาลแห่งนี้มี Ceiling Pendant หรือเชลฟ์วางเครื่องมือแบบไฮโดรลิกเป็นแห่งแรกของประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำหัตถการของแพทย์ เช่น การฉีดยา ผ่าตัด เย็บแผล เป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว …นอกจากนี้เครื่องมือที่สำคัญ โดยเฉพาะอุปกรณ์ช่วยชีวิต เช่น เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งได้งบจากกลุ่ม ปตท. มาจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ และส่วนหนึ่งก็นำไปซื้อเครื่องมือสำรองเผื่อฉุกเฉิน ทำให้สามารถช่วยผู้ป่วยพร้อมๆ กันได้หลายคน พร้อมดูแลผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย แล้วเมื่อเรามีเครื่องมือพร้อม เราก็สามารถรักษาคนไข้ได้อย่างรวดเร็ว เครื่องมือแพทย์เหล่านี้ จึงเป็นเสมือนลมใต้ปีกที่คอยพยุงให้การทำงานของหมอและพยาบาลเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งยังทุ่นเวลาและทุ่นแรงบุคลากรอีกด้วย …ดั้งนั้นการมีเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการบริการที่นอกจากจะรวดเร็ว ปลอดภัย และได้มาตรฐานแล้ว ยังช่วยให้เจ้าหน้าที่บริการได้อย่างเต็มที่เนื่องจากมีเครื่องมืออำนวยความสะดวกอย่างเพียงพอ อัตราการเสียชีวิตก็จะลดลง ผู้มารับบริการก็เกิดความเชื่อมั่นว่าโรงพยาบาลมีความพร้อมในการรักษา และประชาชนจะอุ่นใจได้ว่าสามารถฝากชีวิตกับโรงพยาบาลได้”
ต่างเปี่ยมสุขด้วยรอยยิ้มจากผู้ให้ ผู้รับ และผู้ป่วย ดั่ง ‘ลมใต้ปีก’ ด้วยชีวิตทุกชีวิตมีค่านั่นเอง
………………………………………………..