ปากน้ำประแส คือตำบลหนึ่งมีทำเลที่ตั้งอยู่ในอำเภอแกลง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระยอง ที่มีแหล่งป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร การเชื่อมต่อกันระหว่างกระแสน้ำจืดไหลมาปะทะกับน้ำทะเล จนกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่ติดกับทิศตะวันออกของอ่าวไทย ปากน้ำประแส คือสถานที่ท่องเที่ยวระยอง ที่คุณสามารถมาสัมผัสวิถีชีวิตพื้นถิ่นเชิงอนุรักษ์ ซึ่งมีแหล่งชุมชนริมแม่น้ำดั้งเดิม ตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยสภาพบ้านเรือนเก่าๆ นั้นยังคงมีเหลือให้ได้คิดถึงวันคืนในอดีตอยู่พอสมควร นับได้ว่าเป็นที่เที่ยวที่น่าสนใจอีกหนึ่งที่ของระยอง ปากน้ำประแส เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระยอง ที่มีบริเวณที่มีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจอย่างมาก อาทิ ศาลสมเด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เป็นศาลตั้งอยู่ริมปากแม่น้ำประแส และเป็นที่เคารพสักการะของชาวระยอง อนุสรณ์เรือหลวงประแส ตั้งอยู่บริเวณหัวโขด ชายหาดประแส สถานที่ท่องเที่ยวระยอง แห่งนี้ยังเป็นเกียรติประวัติและเป็นที่ศึกษาและท่องเที่ยวของตำบล ที่ในปัจจุบันบริเวณรอบตัวเรือถูกปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์แปรสภาพให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว จนได้รับความนิยมอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดระยอง ปากน้ำประแส สถานที่ท่องเที่ยว มีจุดน่าสนใจที่เป็นแหล่งสำคัญและทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างพากันเดินทางมาเที่ยวชมกันแบบไม่ขาดสายนั้นก็คือ ทุ่งโปรงทอง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่เต็มไปด้วยธรรมชาติของป่าชายเลน มีสะพานไม้ทอดแนวยาวลัดเลาะไปตามแนวต้นโกงกาง เพื่อไปบรรจบกับปลายสะพานทุ่งโปรงทอง โดยสะพานแห่งนี้ทอดยาวไปสิ้นสุดที่ทะเลประแส โดยจะมีจุดชมวิวที่ทำให้เราได้เห็นยอดต้นโปรงสีเขียวตองอร่ามตา เมื่อแสงแดดส่องกระทบตัดกับท้องฟ้าสวยๆ นอกจากนี้ยังมี สะพานประแสสิน สะพานข้ามแม่น้ำประแส ที่ใช้เป็นถนนสายรองเลียบชายฝั่งทะเลตะวันออก สายเฉลิมบูรพาชลทิต ที่จะเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรม วิถีชีวิต จาก จ.ระยอง สู่จันทบุรีและตราดได้อย่างต่อเนื่อง โดยคุณสามารถมองเห็นทัศนียภาพ 2 ฝั่ง ทั้งฝั่งทะเลและฝั่งชุมชนประแส แต่ถ้าคุณอยากมาสัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้าน ที่ประแสมีชุมชนโบราณที่อนุรักษ์บ้านเก่าที่อยู่บนถนนเลียบแม่น้ำ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมโบราณของเมืองท่าสำคัญฝั่งทะเลตะวันออก และยังเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพักค้างแรมในแบบโฮมสเตย์ ซึ่งมีการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย จากสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยคุณจะได้พบกับเจ้าของบ้านที่สวมบทบาทเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยวตามที่ต่างๆ ในปากน้ำประแส ซึ่งมีโฮมสเตย์อยู่มากมายหลายหลัง ถึงแม้ว่าปากน้ำประแส จะไม่ได้มีหาดทอดยาวเหมือนหาดอื่นๆ แต่ถ้าคุณอยากมาสัมผัสวิถีชีวิตแบบชาวบ้าน ขี่จักรยานสัมผัสวิถีชุมชน อิ่มหนำสำราญกับอาหารทะเลและอาหารพื้นบ้าน ปากน้ำประแส ถือว่าเป็นจุดน่าสนใจที่ควรมาใช้ชีวิตแบบเนิบนาบ ทำอะไรให้ช้าลง สัมผัสความสงบ ผ่อนคลาย ในวันที่แสนสบายของคุณได้อย่างอบอุ่นใจ
จุดท่องเที่ยวน่าสนใจของปากน้ำประแส
แหลมสน
หาดแหลมสน : ชายหาดเล็กๆ ที่ทอดยาวไปจนถึงหาดแหลมแม่พิมพ์ มีสะพานที่ให้คุณมองเห็นวิวจากบนสะพานประแสสินและอนุสรณ์เรือหลวงประแส และมีสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างวัดแหลมสน คุณจะได้เห็นวิถีชีวิตของชาวประมงแหลมสนทั้งการทำประมงและตกปลา นอกจากนี้ยังมีจุดชมวิวแหลมสน ที่สร้างตามโครงการก่อสร้างถนนเลียบชายฝั่งตะวันออก (เฉลิมบูรพาชลทิศ) เพื่อใช้เป็นสถานที่พักผ่อน หย่อนใจ ของคนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงร่วมถึงนักท่องเที่ยว ที่เข้ามาเที่ยวชมอีกด้วย
ทุ่งโปรงทอง
ทุ่งโปรงทอง : ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลปากน้ำกระแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่เต็มไปด้วยธรรมชาติของป่าชายเลน ที่มีสะพานไม้ทอดแนวยาวลัดเลาะไปตามแนวต้นโกงกาง เพื่อไปบรรจบกับปลายสะพานทุ่งโปรงทอง โดยสะพานแห่งนี้ทอดยาวไปสิ้นสุดที่ทะเลประแส โดยจะมีจุดชมวิวที่ทำให้เราได้เห็นยอดต้นโปรงสีเขียวตองอร่ามตา เมื่อแสงแดดส่องกระทบ
อนุสรณ์เรือหลวงประแส
อนุสรณ์เรือหลวงประแส : ตั้งอยู่บริเวณหัวโขด ชายหาดประแส สถานที่ท่องเที่ยวระยอง แห่งนี้ยังเป็นเกียรติประวัติและเป็นที่ศึกษาและท่องเที่ยวของตำบล ที่ในปัจจุบันบริเวณรอบตัวเรือถูกปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์แปรสภาพให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว จนได้รับความนิยมอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดระยอง
ชายหาดประแส
อยู่ใกล้กับอนุสรณ์เรือหลวงประแส มีการพัฒนาบริเวณชายหาดให้สะอาด ไว้รองรับนักท่องเที่ยวได้พักผ่อนหย่อนใจ
สะพานป่าชายเลนบ้านหัวโขด Boardwalk
เป็นสะพานไม้ทอดเเนวโค้ง เมื่อน้ำขึ้นคุณจะได้ชมธรรมชาติไปตามผืนน้ำและเมื่อน้ำลงจะมองเห็น ปูเเสม ปูก้ามดาบ พร้อมกับเสียงดีดตัวของสัตว์น้ำในป่าชายเลนที่สอดผสานรับกันเป็นจังหวะคล้ายเสียงดนตรีตลอดทาง มีศาลาให้คุณได้นั่งพักพิงแอบอิงธรรมชาติ
ตะเคียนใหญ่ ๕๐๐ ปี
ตั้งอยู่ภายในวัดตะเคียนงาม หมู่ ๒ ตำบลปากน้ำกระแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เป็นต้นไม้ที่มีลำต้นขนาดใหญ่แผ่กิ่งก้าน ตระหง่านอยู่หน้าวัดตะเคียนงาม อายุราว ๕๐๐ ปี
ศาลกรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์
ศาลตั้งอยู่ริมปากแม่น้ำประแส ภายในศาลประดิษฐานรูปหล่อเท่าองค์จริงของพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย
ชมหิ่งห้อย
ล่องเรือเพลิดเพลินบนแม่น้ำประแส ชาวบ้านในชุมชนรวมกลุ่มกันอนุรักษ์วิถีชิวีตดั้งเดิม ย้อนกลับสู่วิถีชีวิตคนชาวคลองริมน้ำสัมผัสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์คนกับแม่น้ำประแส อันเป็นสายน้ำสำคัญของจังหวัดระยอง ล่องเรือดูหิ่งห้อยปากน้ำประแสร์ชมธรรมชาติสองฝั่งแม่น้ำ ในพื้นที่มีบ้านพักและโฮมสเตย์ของเอกชนไว้รองรับนักท่องเที่ยว
เขตอนุรักษ์ป่าชายเลนลุ่มแม่น้ำประแสและเกาะนก
โดยเทศบาลตำบลเมืองแกลงเป็นบริเวณพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำประแสและเกาะนก เทศบาลเมืองแกลงได้เริ่มเสริมระบบนิเวศชายฝั่งด้วยการปลูกต้นโกงกางและประสัก นับแต่ปี 2545 เป็นต้นมาโดยเชิญชวนผู้สนใจและกลุ่มชมรมต่าง ๆ เข้าร่วมกิจกรรมนี้ รวมปลูกแล้วกว่า 7,000 ต้น บริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของนกประจำถิ่นอย่างนกกระยางขายาว นกเป็ดน้ำในฤดูกาลย้ายถิ่นช่วยฤดูหนาว ด้วยมีอาหาร กุ้ง หอย ปูปลาอันอุดมสมบูรณ์สำหรับมันเป็นสถานที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการส่องกล้องดูนก
เกาะมันใน
เป็นสถานที่ตั้งของสถานีวิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเล อ่าวไทยฝั่งตะวันออก และยังเป็นสถานที่เพาะขยายพันธุ์เต่าทะเล ตามพระราชเสวานีย์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ มีลักษณะอันเงียบสงบร่มรื่น ยังคงความงดงามธรรมชาติไว้เป็นอย่างดี บนเกาะมีอาคารแสดงนิทรรศการ อาคารเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ทางทะล วิทยากรคอยให้ข้อมูลทุกวัน และเมื่อสบโอกาสอาจพบนกยูงเชื่อง ๆ เดินออกมาทักทายผู้มาเยือนด้วย รอบเกาะมีโขดหินเรียงราย หาดทรายขาวสะอาด น้ำทะเลสีฟ้าอมเขียว และหมู่ปะการังน้ำดื่ม หอยมือเสือฝูงปลาการ์ตูน โดยคุณสามารถใช้บริการจากเรือนำเที่ยว หรือเรือตามโฮมสเตย์ต่างๆ เดินทางไปได้
การเดินทาง สู่ปากน้ำประแส
ใช้ถนนสุขุมวิทเส้นทางระยอง-จันทบุรี เมื่อถึงอำเภอแกลง ให้เดินทางต่อไปอีกประมาณ 12 กิโลเมตร คุณจะพบกับสามแยกประแส จากนั้นเลี้ยวขวาเข้ามายังปากน้ำประแสก็จะถึงตำบลปากน้ำประแส
เกร็ดประแส
“ประแส” ในสมัยกรุงเก่า มีฐานะเป็นเมืองเรียกว่า “เมืองประแส” คำว่า “ประแส” เป็นคำที่ใช้เรียกกันมาตั้งแต่โบราณกาล แม้ชื่อตำบลซึ่งเกิดขึ้นในภายหลังตามกฏหมายลักษณะปกครองท้องที่ก็ใช้ว่า “ตำบลปากน้ำประแส” บรรดาศักดิ์กำนันก็ใช้ว่า “ขุนมุขประแสชล” ฯลฯ แต่ยังคงหาหลักฐานไม่ได้ว่า “ประแส” มีความหมายว่าอย่างไร และในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานมิได้เก็บคำนี้ไว้ เมื่อไม่สามารถหาความหมายของคำดังกล่าวได้ ราวปี พ.ศ. 2489 – 2493 ทางราชการจึงเปลี่ยนชื่อจาก “ประแส” เป็น “กระแส” ซึ่งหมายถึง “กระแสน้ำ” และเปลี่ยนชื่อตำบลว่า “ตำบลปากน้ำกระแส” แต่อย่างไรก็ตามชาวบ้านก็ยังเรียกชื่อหมู่บ้านของตนว่า “ประแส” ตามที่เรียกกันมาแต่ดั้งเดิม แม้สถานที่ราชการบางแห่งของตำบลนี้ยังใช้คำเดิมอยู่ก็มี เช่น สถานีตำรวจภูธรตำบลปากน้ำประแสร์ , การประปาปากน้ำประแสร์
จากการวิเคราะห์คำว่า “ประแส” นั้น พระครูประภัทรวิริยคุณ (มาลัย) เจ้าคณะอำเภอแกลง เจ้าอาวาส “วัดตะเคียนงาม” ได้ศึกษาในเรื่องนี้ โดยในเบื้องต้นสันนิษฐานว่า คำว่า “ประแส” นั้นน่าจะเป็นภาษาชอง ซึ่งเป็นภาษาของชาวพื้นเมืองดั้งเดิมของภูมิภาคนี้ ( สุนทรภู่เคยกล่าวถึงหนุ่มสาวชาวบ้านพลงฆ้อหรือเนินฆ้อไว้ในนิราศเมืองแกลงว่า ..ล้วนวงศ์วานว่านเครือเป็นเชื้อชอง แสดงว่าชาวบ้านพื้นเมืองแถบนี้มีเชื้อสายเป็นชาวชอง ) และเพื่อความกระจ่างชัด พระครูประภัทรวิริยคุณ และ นายระวี ปัญญายิ่ง ได้เดินทางไปสอบถามผู้มีเชื้อสายชองในเขตตำบลพลวง , ตะเคียนทอง , คลองพลู กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี จากการสอบถามได้ความตรงกันว่าในภาษาชอง มีคำว่า “แซร์” หมายถึง ทุ่งนา “พรีแซร์ หรือ ปรีแซร์” หมายถึง ทุ่งนา คือป่าที่ถางแล้วและใช้ปลูกข้าว ถ้าเป็นที่ดอนก็ทำไร่ปลูกข้าว ถ้าเป็นที่ลุ่มก็ทำนาปลูกข้าว หากคำว่า “ประแส” มีรากฐานมาจากภาษา “ชอง” ดังกล่าวจะต้องเขียนตามศัพท์เดิมว่า “ประแสร์” มี ร การันต์ จึงจะมีความหมายว่า “ทุ่งนา” หรือ “ป่าทุ่งนา”
หมู่บ้านประแสร์ ในเขตอำเภอแกลง มี 2 แห่ง คือ “ประแสร์ ( บน )” อยู่ทางทิศเหนือ ห่างจากที่ว่าการอำเภอแกลงประมาณ 12 กม. ( ทางตรง ) ลักษณะพื้นที่ของหมู่บ้านประแส (บน) เป็นที่นา รอบๆทุ่งนาเป็นแนวป่า มีแม่น้ำไหลผ่านหมู่บ้านนี้ เรียกว่า “แม่น้ำประแสร์” ไหลออกสู่ทะเล ณ ที่ใด ก็เรียกที่นั้นว่า “ปากแม่น้ำประแสร์” และกร่อนไปเป็น “ปากน้ำประแสร์” ในที่สุดจึงสรุปว่า “ประแสร์” น่าจะมีรากฐานมาจากภาษาชอง คือเพี้ยนมาจากคำว่า “พรีแซร์” หรือ “ปรีแซร์” ที่แปลว่า “ทุ่งนา” ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของพระครูประภัทรวิริยคุณที่ได้ข้อมูลมาจากการศึกษาข้อมูลเก่า , การค้นคว้าจากหนังสือเรื่อง “อารยธรรมของจันทบุรี” ที่กล่าวถึงภาษาชอง และสอบถามจากบุคคลหลายที่
อนึ่ง มีผู้สันนิษฐานด้วยว่า คำว่า “ประแส” น่าจะมาจากความหมายที่ว่า “กระแสน้ำจืด” ที่ไหลมาจากต้นน้ำมา “ประ” (ปะทะ) กับน้ำทะเล (เค็ม) ตรงปากน้ำ จึงเรียกว่า “ปากน้ำประแส”
ที่มา : เทศบาลตำบลปากน้ำประแส